โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการเกษตร

แนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ คือ การที่ทรงเน้นในเรื่องของ การค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชต่าง ๆ ใหม่ ๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ เช่น หม่อนไหม ยางพารา ฯลฯ ทั้งพืชเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน และพืชสมุนไพร ตลอดจนการศึกษาเกี่ยว กับแมลงศัตรูพืช ทั้งนี้รวมทั้งพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสมเช่น โค กระบือ แพะ แกะ พันธุ์ปลา ฯลฯ และสัตว์ปีกทั้งหลายด้วย เพื่อแนะนำให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้ ราคาถูก และใช้เทคโนโลยีที่ง่าย และไม่สลับซับซ้อนซึ่งเกษตรกรจะสามารถรับไปดำเนินการเองได้ และที่สำคัญ คือพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ หรือเทคนิควิธีการดูแลต่าง ๆ นั้น จะต้อง เหมาะสมกับสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น นั้นๆ ด้วย
อย่างไรก็ตามมีพระราชประสงค์เป็นประการแรก คือ การทำให้เกษตร กร สามารถพึ่งตนเองได้โดยเฉพาะในด้านอาหาร ก่อน เป็นอันดับแรก เช่น ข้าว พืชผัก ผลไม้ ฯลฯ แนวทางที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การที่ทรงพยายาม เน้นมิให้ เกษตรกรพึ่งพาอยู่กับพืชเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว เพราะจะเกิดความเสียหายง่าย เนื่องจากความ แปรปรวนของตลาด และความไม่แน่ นอนของธรรมชาติทางออกก็คือเกษตรกรควรจะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือไปจากภาคเกษตร เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรม ในครัวเรือนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งดำเนินงานสนับสนุนงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปัจจุบันสภาพของทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ที่ดิน แหล่งน้ำ ฯลฯ ให้อยู่ในสภาพที่จะมีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างมากที่สุด
จากแนวทางและเป้าหมายต่าง ๆ ดังกล่าว มีแนวพระราชดำริ ที่ ถือเป็นหลักเกณฑ์ หรือเทคนิควิธีการ ที่จะบรรลุถึง เป้าหมายนั้น หลายประการ ประการแรก ทรงเห็นว่าการพัฒนาการเกษตรที่ จะได้ผลจริงนั้น จะต้อง ลงมือทดลองค้นคว้า ต้องปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังพระราชดำรัส ว่า "... เกษตรกรรมนี้ หรือ ความเป็นอยู่ของเกษตรนั้น ขอให้ปฏิบัติ ไม่ ใช่ ถือตำราเป็นสำคัญอย่างเดียว.."
สำหรับการค้นคว้าทดลองนั้น ได้ทรงเน้นให้มีทั้งก่อนการผลิต และหลังจากผลิตแล้ว คือ พิจารณาดูตั้งแต่เรื่องความเหมาะสม ของพืช ความ เหมาะสมของดิน พืชอย่างใดจะเหมาะกับดินประเภทใด รวม ทั้งการค้นคว้า เกี่ยวกับความต้องการของตลาด คือ การปลูกพืชที่ตลาดต้องการ ผลิตออกมาแล้วมีที่ขาย ส่วนการค้นคว้า วิจัยหลังการผลิต คือการดูเรื่องความสอดคล้องของตลาด เรื่องคุณภาพของผลผลิตหรือทำอย่างไรจึงจะ ให้เกษตรกรได้มีความรู้เบื้องต้นในด้าน การบัญชีและธุรกิจ การเกษตรในลักษณะที่พอจะทำธุรกิจแบบพึ่งตนเองได้ สำหรับในเรื่องนี้ ทรงเห็นว่า การรวมกลุ่มกันของเกษตรกรเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตนั้น ทรงให้ความสำคัญ กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในระยะยาว พระราชประสงค์ของพระองค์ ที่จะให้เกษตรกร ได้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีสภาพชีวิตที่มีความสุข ไม่เคร่งเครียดกับการเร่งรัดให้เกิดความเจริญโดยรวดเร็ว นอกเหนือ จากเรื่องที่ทรงเน้น ในเรื่องการผลิตอาหารให้เพียงพอแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนจากพระราชดำรัสที่ว่า "...ไม่จำเป็นต้องส่งเสริมผลผลิตให้ ได้ปริมาณสูงสุดแต่เพียงอย่างเดียว เพราะเป็นการสิ้นเปลืองค่าโสหุ้ย และทำลายคุณภาพดินแต่ควรศึกษาสภาวะตลาดการเกษตร ตลอดจนการควบคุมราคาผลิตผล ไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน..."
เทคนิควิธีการในการพัฒนาการเกษตรของพระองค์อีกประการหนึ่ง คือการที่ทรงใช้ประโยชน์ จากธรรมชาติให้มากที่สุด เช่น การใช้ที่ดินที่ทิ้งไว้เปล่าๆ ให้เป็นประโยชน์ หรือการ มองหาประโยชน์จากธรรมชาติในสิ่งที่ผู้อื่นนึกไม่ถึง เช่น ครั้งหนึ่งทรงสนับสนุนให้มี การทำครั่งจากต้นจามจุรีที่ขึ้นอยู่ริมทางหลวงที่จะเสด็จฯ ไป พระราชวังไกลกังวล มีพระราชดำริว่า "..เกิดจากความคิดที่จะเอาต้นก้ามปูมาทำให้ประชาชนมีงานทำแล้วร่วม เป็นกลุ่ม..." การมุ่งใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ยังมีลักษณะสอดคล้องกับวิธีการ ที่สำคัญของพระองค์อีกประการหนึ่งคือ การประหยัด ทรงเน้น ความจำเป็นที่จะลด ค่าใช้จ่ายในการทำมาหากิน ของเกษตรกรลงให้เหลือน้อยที่สุด โดยอาศัยพึ่งพิง ธรรมชาติ เป็นปัจจัยสำคัญ วิธีการของพระองค์มีตั้งแต่การสนับสนุนให้เกษตรกร ใช้โคกระบือ ในการทำนามากกว่าให้ใช้เครื่องจักร ให้มีการปลูกพืชหมุนเวียน โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว เพื่อลดค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ย หรือกรณีที่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ย ก็ทรงสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยธรรมชาติแทนปุ๋ยเคมี ซึ่งมีราคาแพง และมีผลกระทบต่อสภาพ และคุณภาพของดิน ในระยะยาว นั่นคือทรงสนับสนุนให้ทำ "การเกษตร ยั่งยืน" นอกจากนั้นยังทรง แนะนำในเรื่องการผลิตก๊าซชีวภาพ อันจะมีผลดีทั้งในด้านเชื้อเพลิงและปุ๋ย รวมทั้งได้ทรงเน้นอยู่เสมอที่จะให้เกษตรกรมีรายได้เสริม หรือรายได้นอกการเกษตร จากการหาวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น เช่น ไผ่ ย่านลิเพา ปาหนัน ฯลฯ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการจักสาน เพื่อเป็นอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ของตนเอง
โครงการพัฒนาด้านการเกษตรอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น ประกอบด้วยงานหลายประเภท ซึ่งโดยทั่ว ๆ แล้วจะเป็นงานเกี่ยวกับการศึกษาค้นคว้า ทดลอง วิจัยหาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ ดำเนินการอยู่ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และนำผลสำเร็จ จากการศึกษาทดลองไปถ่ายทอดสู่ประชาชน ด้วยการฝึกอบรมให้เกษตรกรมีความรู้ ในวิชาการเกษตรแผนใหม่ นอกจากนั้นยังประกอบด้วยโครงการเพื่อการส่งเสริมการเกษตร เช่น โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวและทำนาขั้นบันได อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส หรือโครงการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ จังหวัดพระนครศรี อยุธยา เป็นต้น
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในด้านการพัฒนาการเกษตรที่กระจายอยู่ทั่วประเทศนั้น ได้ส่งผลโดยตรงต่อความกินดีอยู่ดีของเกษตรกรเป็นอย่างมาก เนื่องจาก เป็นโครงการที่มุ่งแก้ปัญหาหลักด้านการพัฒนาการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้ เกษตรกรได้มีโอกาสมากขึ้น ในการเข้าถึงแหล่งความรู้ในด้านเทคนิค และวิชาการ เกษตรสมัยใหม่ ซึ่งแต่เดิมเกษตรกรไม่เคยมีโอกาสเช่นนี้มาก่อน รวมทั้งยังได้มีโอกาสเรียนรู้ และเห็นตัวอย่างของความสำเร็จของการผลิตในพื้นที่ต่าง ๆ และสามารถนำไปปรับใช้ในการเพาะปลูกของตนเองอย่างได้ผล ความเจริญของเกษตรกร และภาคเกษตรกรรมนี้ มิใช่มีจุดหมายในตัวเองเท่านั้น หากแต่ยังมีความหมาย ต่อความเจริญของภาคเศรษฐกิจแขนงอื่น และของประเทศชาติโดยส่วนรวมด้วย
*************************
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการพัฒนาการเกษตรในชนบท
โครงการประมงพระราชทาน
เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2495 ด้วยการให้กรมประมงใช้บ่อน้ำในบริเวณ สวนจิตรดา เป็นที่เพาะเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์ปลาพระราชทานแก่ประชาชน ทั้งพันธุ์ปลาพื้นเมืองและจากต่างประเทศ และทดลองการผสมเทียม เพื่อสงวนพันธุ์ปลาพื้นเมือง พ.ศ. 2515
โครงการฝนหลวงพิเศษ
เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2499 เพื่อทำฝนเทียมบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร ในท้องถิ่นทุรกันดารที่ขาดแคลนน้ำบริโภคและการเพาะปลูก ศึกษาวิธีการจนถึง พ.ศ. 2512 ได้ทดลองปฏิบัติการจนปรากฏผลเป็นที่น่าพอใจ โครงการนี้ได้รับ ความร่วมมือจากหอบังคับการบิน สนามบินของกรมการบินพลเรือน สถานีตรวจ อากาศกรมอุตุนิยมวิทยา และวิทยุสื่อสารของกรมตำรวจ
โครงการนาสาธิต
เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2504 เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้พระราชทานในพระราช พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และเพื่อสาธิตการปลูกข้าวแบบนาดำและนาหว่าน โดยใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมี เพื่อเป็นตัวอย่างและเป็นแนวทางให้เกษตรกรนำไปใช้
โครงการโคนมสวนจิตรลดา
เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2505 เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่การเลี้ยงโคนม โดยสาธิต การดำเนินงานให้เป็นแบบฉบับและตัวอย่างแก่บรรดาเกษตรกรที่ทำการเลี้ยงโคนม และเพื่อศึกษาค้นคว้าวิชาการแผนใหม่เกี่ยวกับกิจการโคนม
โครงการฟาร์มส่วนประองค์หาดทรายใหญ่ ตำบลเขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2508 ในที่ดินส่วนพระองค์ เพื่อปรับปรุงเป็นแบบอย่าง ของการพัฒนาพื้นที่ที่มีลักษณะแห้งแล้ง โดยการทดลองเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ชนิดต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ ผสมพันธุ์และให้เปล่าแก่ราษฎร สำหรับใช้เป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่ดี
โครงการพัฒนากลุ่มชาวไร่ ดอนขุนห้วย ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2511 เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ยากจนและยังไม่มีที่ ทำกินเป็นของตนเองได้ประกอบอาชีพเกษตรกรตามหลักวิชาการ และให้ ราษฎรมีการรวมกลุ่มเพื่อเป็นพื้นฐานในการจัดตั้งเป็นรูปสหกรณ์
โครงการพัฒนาทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ในสภาพดินพรุ บ้านทอน จังหวัดนราธิวาส
เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2522 เพื่อพัฒนาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ วิจัยทดลอง ค้นคว้าหาพันธุ์พืช อาหารสัตว์ โครงการเสร็จสิ้น พ.ศ. 2529
โครงการส่งเสริมการปลูกพืชในนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้
เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2523 เพื่อเพิ่มความรู้ทางวิชาการเกษตรแก่สมาชิก ในการประกอบอาชีพ เพิ่มรายได้ และเพิ่มอาหารให้พอเพียงแก่การบริโภค ส่งเสริมพืชผักสวนครัว ข้าวไร่ กาแฟ เงาะ ขนุน จำปาดะ มะนาว ทุเรียน ลองกอง ไผ่ดาว มะม่วง และหม่อน (เพื่อเลี้ยงไหม) สิ้นสุดโครงการ พ.ศ. 2524
โครงการปลูกไม้ไผ่ หวาย ไม้เนื้ออ่อนโตเร็ว
เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2523 เพื่อส่งเสริมการปลูกหวาย และเพิ่มปริมาณ พันธุ์หวายในบริเวณป่านิคมสร้างตนเอง พัฒนาภาคใต้สำหรับสมาชิกนิคมใน พื้นที่ 200 ไร่ สิ้นสุดโครงการ พ.ศ. 2524
โครงการส่งเสริมอาชีพการเพาะเลี้ยงกบ
เริ่มและเสร็จสิ้นใน พ.ศ. 2523 ในนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ หมู่บ้านไอปาโจ และหมู่บ้านโต๊ะโมะ กิ่งอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส เพื่อให้สมาชิกและเกษตรกรผู้สนใจได้รับความรู้ในการเลี้ยงกบ และสามารถ นำไปประกอบอาชีพได้
โครงการป้องกันและกำจัดหนูนา
เริ่มและเสร็จสิ้นใน พ.ศ. 2524 เพื่อป้องกันหนูทำลายพืชผล ลดจำนวนหนู และสนับสนุนเกษตรกรช่วยเหลือตนเองในการป้องกัน และกำจัดหนูและศัตรูพืช
โครงการทำนาในนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดนราธิวาส
เริ่มและเสร็จสิ้นใน พ.ศ. 2524 เพื่อปรับปรุงพื้นที่ซึ่งเป็นหินและ ทรายให้สามารถทำนาได้ เป็นตัวอย่างแก่สมาชิกนิคมมี 2 โครงการย่อย คือ โครงการทำนาข้าวบนพื้นที่ราบ และโครงการทำนาข้าวขั้นบันไดที่บ้าน ภูเขาทอง
โครงการพัฒนาลุ่มน้ำ คลองหอยโข่ง-คลองขำไทย จังหวัดสงขลา
เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2525 เพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการจัดหาพันธุ์พืช ที่เหมาะสม การปรับปรุงดิน และการใช้ปุ๋ยในพื้นที่โครงการและหมู่บ้าน บริวาร ศึกษาการใช้น้ำของพืชและระบบการปลูกพืช ตลอดจนศึกษาการ ทดลองเพาะเห็ดต่าง ๆ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ในไร่นา ของตนเอง
*********************
โครงการตามพระราชดำริด้านการพัฒนาชาวเขาและการเกษตรที่สูง
โครงการหลวงพัฒนาชาวเขา จังหวัดเชียงใหม่
เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2512 เพื่อป้องกันราษฎรชาวเขาทำลายป่าต้นน้ำ เพื่อปลูกฝิ่นและให้รู้จักอยู่เป็นหลักแหล่ง โดยฝึกอบรมราษฎรชาวเขาให้ เข้าใจหลักวิชาการเกษตรที่สูง การปลูกพืชทดแทนที่เหมาะสมกับภูมิประเทศ การเลี้ยงสัตว์และการสัตวบาล ส่งเสริมการศึกษาอนามัย และการวางแผน ครอบครัว มีโครงการที่เกี่ยวเนื่องคือ (1) โครงการทดลองปลูกไม้ผลเมืองหนาว เริ่มโครงการเมื่อ พ.ศ. 2508 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการโดยได้รับการสนับสนุนจากองค์ การสหประชาชาติ (2) โครงการปลูกป่าทดแทน เริ่มโครงการเมื่อ พ.ศ. 2515 (3) โครงการส่งเสริมการปลูกสตอว์เบอร์รี เริ่มโครงการเมื่อ พ.ศ. 2515
โครงการพัฒนาจังหวัดแม่ฮ่องสอน
เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2522 เพื่อพัฒนาการผลิตทางการเกษตร ปลูกพืชทดแทนฝิ่น ป้องกันการบุกรุกทำลายป่าอนุรักษ์และปรับปรุงดินและน้ำ จัดสรรที่ดิน และพัฒนา แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร จัดตั้งธนาคารข้าว ตลอดจนส่งเสริม ศิลปาชีพพิเศษ และพัฒนาจิตใจของราษฎรให้เกิดความสามัคคีและหวงแหนแผ่นดินไทย แบ่งศูนย์ดำเนินงานเป็นศูนย์สันป่าตอง ศูนย์ขุมยวม ศูนย์โป่งแดง ศูนย์ปางตอง และศูนย์ปางมะผ้า มีโครงการที่เกี่ยวเนื่องคือ (1) โครงการทดสอบและพัฒนาหม่อนไหม เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรปลูกหม่อน และเลี้ยงไหม (2) โครงการพัฒนาลุ่มน้ำสาง (ที่หมู่บ้านท่าไคร้ ตำบลปางมะผ้า อำเภอ เมือง) เพื่อทดลองพันธุ์ข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาว ให้ราษฎรรู้จักปลูกพืชและ เลี้ยงสัตว์แบบใหม่ บรรเทาการปลูกฝิ่น ลดการทำลายป่า และส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ
โครงการพัฒนาเกษตรหลวง ขุนวาง จังหวัดเชียงใหม่
เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2523 เป็นสถานีทดลองการเกษตร เพื่อพัฒนาพืชอื่น ๆ มาปลูกแทนฝิ่น ลดการทำไร่เลื่อนลอยและตัดไม้ทำลายป่า และส่งเสริมฐานะ ทางเศรษฐกิจ การศึกษา และสังคมของราษฎรใน 6 หมู่บ้านชาวเขา 191 หลังคาเรือน พื้นที่ 450 ไร่
โครงการศูนย์ขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผล งานสาธิตส่งเสริมและพัฒนาอาชีพราษฎร อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2523 เพื่อขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผล ที่หมู่บ้านไร่ ตำบลเขาชน อำเภอหางดง
โครงการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบนที่สูง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2525 เพื่อศึกษาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในสภาพที่สูง หาแนวทางส่งเสริมอาชีพเกษตรกรในเขตเกษตรที่สูง เพื่อลดพื้นที่ปลูกฝิ่นหรือ ทดแทนการปลูกฝิ่น
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพื้นที่ห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่
เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2525 เพื่อหารูปแบบการพัฒนาในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ โดยการปลูกป่าไม้ใช้สอย ป่าไม้ผลและป่าไม้พื้น มีกรมวิชาการเกษตรเข้า ร่วมศึกษาการจัดการดินและน้ำในระบบการปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ
โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน
เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2527 เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ การปลูกพืชที่เหมาะสมกับ สภาพภูมิประเทศและลักษณะดิน ให้ราษฎรได้รับความรู้ด้านการเกษตรแผนใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและมีงานทำในท้องถิ่น